ช้างเร่ร่อน ภาพจาก chaoprayanews
ในอดีต ช้างเป็นกำลังสำคัญ ในการสร้างบ้านแปงเมือง เป็นแรงงานในการชักลากไม้ซุง แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย กลับเข้ามามีบทบาทกับคนมากกว่าแรงงานสัตว์ ทั้งความรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย กำหนดเวลาที่แน่นอนในการทำงานได้ ทำให้คนหันไปพึ่งพาเครื่องจักรมากขึ้น เป็นเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ช้างไม่มีงานทำเหมือนก่อน ประกอบกับกระเสต่อต้านจากนักอนุรักษ์ ไม่ให้มีการตัดไม้ทำลายป่า ยิ่งทำให้ช้างตกงานไปตาม ๆ กัน
เมื่อรายรับลดลง แต่รายจ่ายยังคงเหมือนเดิม และช้างยังต้องกินอาหาร ค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าอาหารช้าง ตกประมาณวันละ 400-600 บาท ต่อเชือก เพื่อความอยู่รอดของทั้งช้างและคนเลี้ยงช้าง ทำให้เจ้าของช้างต้องพาช้างออกเดินทางไปตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเร่ขายของ ต่อมาจึงพัฒนาเป็นการขายอาหารช้าง ใช้ช้างเป็นเครื่องมือเรียกความสงสาร หากินบนความเชื่อ และความศรัทธาของมนุษย์ โดยนำช้างมาให้คนลอดใต้ท้อง เพื่อสะเดาะเคราะห์ เจ้าของช้างหลายคน ขายช้างให้กับคณะละครสัตว์ รีสอร์ท หรือสวนสนุก เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกภาระค่าอาหารที่หนักอึ้งอีกต่อไป
การนำช้างเข้ามาเร่ร่อนในกรุงเทพฯ อันเป็นมหานครที่ระอุไปด้วยความร้อนและควันพิษ เป็นการเร่งให้ช้างป่วย และเสียชีวิตได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากควาญช้าง ไม่สามารถหาน้ำดื่มที่บริสุทธิ์ ให้ช้างได้ดื่มอย่างเพียงพอในแต่ละวัน อีกทั้งปริมาณอาหารที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของช้างก็เป็นจำนวนไม่น้อย สภาพแวดล้อมในเมือง แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับในป่า เต็มไปด้วยรถรา การจราจรที่คับคั่ง พื้นถนนที่แสนร้อนและท่อระบายน้ำที่ผุพัง น่าเห็นใจว่า ช้าง อาจไม่ได้รับรู้ถึงอันตรายที่แฝงอยู่รอบตัว มันเพียงแต่เดินมาตามความต้องการของคนเลี้ยงด้วยความภักดีเท่านั้น การนำช้างมาเดินเร่ร่อนขายยา ขายอาหาร หรือ มาให้คนลอดใต้ท้องช้างสะเดาะเคราะห์ในเมืองใหญ่ จึงเป็นการทารุณ และสร้างความเจ็บปวดทรมานให้กับช้างอย่างมาก และนี่ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ช้างล้มหายไปจากเมืองไทย
ลูกช้างเคราะห์ร้าย ตกท่อระบายน้ำ ที่ระยอง
ภาพจาก คม ชัด ลึก