มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง มุ่งมั่นที่จะเสนอแนะ ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับช้างที่เก่าแก่และล้าสมัย เพื่อให้มีกฎหมายที่คุ้มครองครอบคลุม สิทธิและสวัสดิภาพช้าง ป้องกันการทารุณกรรมช้าง ตลอดจนการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่าและพันธุ์พืชต่าง ๆ
ในด้านการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับช้าง ที่ผ่านมามูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง (ในนามภาคีช้างไทย) ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติ "สัตว์ประจำชาติ" ขึ้น เป็นครั้งแรก เพื่อให้รวมศูนย์การจัดการและอนุรักษ์ช้างให้อยู่ในหน่วยงานเดียวกันและเหมาะสม โดยได้นำเสนอร่างต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เมื่อต้นปี 2545 ปัจจุบัน สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ดำเนินการรับเป็นเจ้าภาพ เพื่อสานต่อโครงการนี้ไปแล้ว
ตัวอย่างกฎหมายช้างที่ล้าสมัย เช่น เรื่องของการทำตั๋วรูปพรรณช้าง แต่เดิมให้นำช้างมาจดทะเบียนได้ เมื่อช้างมีอายุ 8 ปี ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้มีการนำลูกช้างป่ามาสวมทะเบียนได้ง่าย หรือนำลูกช้างขายไปยังต่างประเทศก่อนถึงอายุที่กำหนด ทำให้การติดตามจำนวนช้างเลี้ยงทำได้ยาก มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง จึงเสนอให้มีการแจ้งลงทะเบียนลูกช้างที่เกิดใหม่ในทันที
มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง ยังมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการปรับปรุง แก้ไขกฎหมายช้าง อาทิเช่น ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ในการร่างและนำเสนอข้อบัญญัติ เพื่อป้องกันไม่ให้นำช้างเข้ามาเร่ร่อนในเขตกรุงเทพมหานครได้สำเร็จเป็นแห่งแรก
จุดยืนที่เด่นชัด ในการปรับปรุงกฎหมายช้างของมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง คือ ไม่สนับสนุนการส่งออกและค้าช้าง ไม่ว่ากรณีใด ๆ เนื่องจากจะเป็นการส่งเสริมให้มีการค้าขายช้าง และล่าช้างป่ามาสวมทะเบียนเป็นสัตว์พาหนะได้ และอาจเป็นการเปิดช่องให้มีการค้าขายซากช้าง หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากช้าง หรือซากของช้างอีกด้วย
มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง จะขอเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ และประชาสัมพันธ์ ในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับช้าง รวมถึงสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนสามารถช่วยกัน เป็นหูเป็นตา ให้ช้างและสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้รับความคุ้มครองและการดูแลที่ดี
กลับไปที่ กิจกรรมของมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง
|